Wolseley, Garnet Joseph Wolseley, 1ˢᵗ Viscount, Baron Wolseley of Cairo and of Wolseley (1833–1913)

จอมพลการ์เนต โจเซฟ วูลสลีย์ ไวส์เคานต์วูลสลีย์ที่ ๑ บารอนวูลสลีย์แห่งไคโรและแห่งวูลสลีย์ (พ.ศ. ๒๓๗๖–๒๔๕๖)

 จอมพล การ์เนต โจเซฟ วูลสลีย์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๕–๑๙๐๐ เขาไต่เต้าจากนายทหารระดับล่างสู่ระดับสูงสุดด้วยความสามารถและความกล้าหาญของตนเองในยุคสมัยที่ชาติกำเนิดและเงินสามารถบันดาลให้ชายอังกฤษดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้ตามต้องการ และต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ วูลสลีย์มีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องจักรวรรดิอังกฤษตั้งแต่สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ ๒ (Second AngloBurmese War ค.ศ. ๑๘๕๒–๑๘๕๓) จนถึงสงครามแอฟริกาใต้ (South African War) หรือสงครามบัวร์ (Boer Wars ค.ศ. ๑๘๙๙–๑๙๐๒)* ในแอฟริกาใต้และเป็นผู้ที่พยายามผลักดันการปฏิรูปกองทัพอังกฤษในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพราะเล็งเห็นว่าจักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ไม่อาจพึ่งพาแต่เฉพาะราชนาวีเป็นหลักเท่านั้น

 วูลสลีย์เกิดเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๓ ที่เมืองโกลเดนบริดจ์ (Golden Bridge) เคาน์ตีดับลิน (Dublin County) ไอร์แลนด์ เขาเป็นบุตรคนโตของพันตรี การ์เนต โจเซฟ วูลสลีย์ (Garnet Joseph Wolseley) กับฟรานซิส แอนน์ สมิท (Frances Anne Smith) บุตรสาวเจ้าของที่ดินชาวไอริช บิดาซึ่งหันมาประกอบอาชีพเจ้าของร้านค้าหลังเกษียณจากราชการทหารเสียชีวิตเมื่อเขามีอายุเพียง ๗ ขวบ มารดาจึงต้องรับภาระหนักในการเลี้ยงดูลูกทั้ง ๗ คนอย่างฝืดเคืองอย่างไรก็ดี วูลสลีย์มีโอกาสเล่าเรียนในกรุงดับลินและต่อมาเข้าทำงานในหน่วยงานด้านการสำรวจรังวัดที่ดินเมื่อมารดาได้เขียนร้องขอความกรุณาจากจอมพลอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of Wellington)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุด วูลสลีย์จึงได้เริ่มรับราชการทหารโดยการเป็นนายธง (ensign) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๒ โดยที่ไม่ต้องซื้อตำแหน่งทั้ง ๆ ที่โดยปรกติเป็นตำแหน่งที่สมัยนั้นต้องใช้เงินซื้อเพราะทางการเห็นแก่การรับราชการทหารมาก่อนของบิดา วูลสลีย์มีโอกาสแสดงความสามารถโดดเด่นในการรบเมื่อถูกส่งไปในหน่วยทหารที่เข้าไปสมทบในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ ๒ เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สะโพกและคงฝืนไม่ยอมออกจากสนามรบจนกระทั่งเห็นทหารฝ่ายเขาชนะประสบการณ์รบครั้งนี้ทำให้ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตรีใน ค.ศ. ๑๘๕๓

 ต่อมาเขาได้รับคำสั่งให้ไปกับกองทหารซึ่งถูกส่งไปในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีสู้รบกับรัสเซีย โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบาลาคลาวา (Balaklava)ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๔ วูลสลีย์ซึ่งได้รับยศร้อยเอกเมื่ออายุ ๒๑ ปี สังกัดอยู่หน่วยวิศวกรหลวง (Royal Engineers) มีหน้าที่หลักในการสร้างและซ่อมแซมสนามเพลาะเขาจึงมีโอกาสใช้ความรู้จากงานสำรวจที่ดินปฏิบัติการที่สงครามไครเมียนี้ทำให้วูลสลีย์มีโอกาสได้พบกับชาลส์ จอร์จ กอร์ดอน (Charles George Gordon)* ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นผู้มีความทรหดอดทน ไม่หวั่นเกรงในการสู้รบ และเป็นคริสเตียนที่เคร่ง ในช่วงการปิดล้อมทหารฝ่ายรัสเซียที่เมืองเซวัสโตโปล (Siege of Sevastopol) วูลสลีย์ได้รับบาดเจ็บที่ขาขวาและใบหน้าจนถึงกับสูญเสียนัยน์ตาข้างขวาใน ค.ศ. ๑๘๕๕ สองปีหลังจากนั้น ระหว่างเกิดเหตุการณ์กบฏอินเดีย (Indian Mutiny) ค.ศ. ๑๘๕๗–๑๘๕๘ หรือกบฏซีปอย (Sepoy Mutiny) วูลสลีย์เดินทางไปกับกองทหารที่ถูกส่งอย่างเร่งรีบไปที่เมืองกัลกัตตา (Calcutta) เขาได้แสดงบทบาทสำคัญในการรบของหน่วยทหารที่มีเซอร์โคลินแคมป์เบลล์ (Colin Campbell) เป็นผู้บังคับบัญชาในการปลดปล่อยเมืองลัคเนาว์ (Lucknow) ได้สำเร็จ จากนั้นใน ค.ศ. ๑๘๖๐ วูลสลีย์ซึ่งเป็นพันโทที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้นก็ถูกส่งไปจีนภายใต้การบัญชาการของเซอร์เจมส์ โฮป แกรนต์ (James Hope Grant) ในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ ๒ (Second Opium War) ระหว่างอังกฤษกับจีน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปครั้งนั้นทำให้เขานำมาเขียนหนังสือเรื่องNarrative of the War with China in 1860 ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๖๒

 ในช่วงทศวรรษ ๑๘๖๐ วูลสลีย์ใช้เวลาส่วนใหญ่ประจำการในแคนาดาซึ่งเป็นอาณานิคมแห่งหนึ่งของอังกฤษ และเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War ค.ศ. ๑๘๖๑–๑๘๖๕) ด้วยเขาเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมพลาธิการและได้รับมอบหมายให้อยู่ในกลุ่มนายทหารที่ถูกส่งไปแคนาดาอันเนื่องมาจากกรณีทหารฝ่ายรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาหรือฝ่ายสหภาพ (Union) บนเรือฟรีเกตซานฮาซินโต (San Jacinto) ได้เข้าจับกุมผู้แทนฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederation) ๒ นายบนเรือเทรนต์ (Trent) ซึ่งเป็นเรือกลไฟรับส่งไปรษณียภัณฑ์ของอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๑ จนก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่า กรณีเรื่องเรือเทรนต์ (Trent Affair) ขึ้น วูลสลีย์ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปเพื่อปรับปรุงศักยภาพด้านการป้องกันอาณานิคมแห่งนี้หากเกิดกรณีที่อังกฤษต้องเข้าสู่ภาวะสงครามกับสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้นวูลสลีย์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพลเอก รอเบิร์ต เอดเวิร์ด ลี (Robert Edward Lee) ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสมาพันธรัฐซึ่งเขาชื่นชมว่าเป็นผู้มีอัจฉริยะทางการทหารด้วย เมื่อหมดหน้าที่ผู้ช่วยเจ้ากรมพลาธิการในแคนาดาใน ค.ศ. ๑๘๖๗ วูลสลีย์ก็เดินทางกลับอังกฤษและสมรสกับลุยซา เอิร์สกิน (Louisa Erskine) ทั้งที่เขาเคยปรารภว่าจะครองตัวเป็นโสดไปตลอด แต่ในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็ถูกเรียกตัวให้กลับไปเป็นรองเจ้ากรมพลาธิการในแคนาดาอีก

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ เขาได้นำกองทหารประจำการนอกประเทศในเขตแม่น้ำแดง (Red River Expeditionary Force) ลาดตระเวนตามลำแม่น้ำที่อยู่บริเวณพรมแดนสหรัฐอเมริกากับแคนาดาเป็นระยะทางยาว ๙๕๐ กิโลเมตร เพื่อปราบปรามการก่อกบฏของลุย รีเอล (Louis Riel) ซึ่งประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐนอร์ท-เวสต์ (Republic of the North-West) ในรัฐแมนิโทบา (Manitoba) และประกาศตั้งตนเป็นประธานาธิบดี ทั้งเพื่อกำกับการถ่ายโอนดินแดนในความครอบครองของบริษัทฮัดสันส์เบย์ (Hudson’s Bay Company) ให้แก่แคนาดา ความสำเร็จในภารกิจที่สามารถสถาปนาอำนาจอธิปไตยของแคนาดาเหนือดินแดนนอร์ทเวสต์ เทร์ริทอรีส์ (Northwest Territories) และแมนิโทบาทั้งจัดระบบการบริหารดินแดนใหม่ทำให้วูลสลีย์ได้รับชื่อเสียง ในช่วงเวลาที่อยู่ในแคนาดานี้วูลสลีย์เขียนเรื่อง Soldier’s Pocket-book for Field Service ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานของทหาร หนังสือเล่มนี้กลายเป็นคู่มือทหารที่ได้รับความนิยมมากจนมีการจัดพิมพ์หลายครั้ง แต่การวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนและความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพทำให้เขาถูกตัดเงินเดือนเหลือครึ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่วูลสลีย์กลับไปอังกฤษอย่างได้รับการแซ่ซ้อง และเอดวาร์ด คาร์ดเวลล์ ไวสเคานต์คาร์ดเวลล์ (Edward Cardwell, Viscount Cardwell) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามก็ตั้งให้เขาเป็นผู้ช่วยนายทหารเสนาธิการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ เพื่อให้ช่วยเรื่องการปฏิรูปกองทัพต่อไป

 เมื่อกลับมาประจำการที่กระทรวง วูลสลีย์เป็นนายทหารคนสำคัญที่สนับสนุนการปฏิรูปกองทัพบกของคาร์ดเวลล์ เขาเริ่มให้ใช้ระบบการเรียกประจำการช่วงสั้น ๆ การตั้งหน่วยกองหนุน และการยกเลิกการซื้อตำแหน่งต่าง ๆ แต่งานปฏิรูปกองทัพต้องชะงักลงเพราะเกิดเหตุวุ่นวายในแอฟริกา และรัฐบาลอังกฤษชุดต่าง ๆ ต้องการมอบหมายให้วูลสลีย์ซึ่งเป็นนายทหารที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไปให้เป็นผู้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในจักรวรรดิอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ เขาจึงถูกส่งไปประจำการที่แอฟริกาตะวันตกพร้อมนายทหารและพลเรือนที่เลือกสรรเป็นพิเศษ ๓๕ นายซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ กลุ่มวูลสลีย์หรือกลุ่มอาชันตี (Wolseley Ring; Ashanti Ring) บางคนก็เคยร่วมงานกันในกองทหารประจำการนอกประเทศในเขตแม่น้ำแดงมาแล้ว กลุ่มวูลสลีย์ได้รับคำสั่งให้ไปปราบปรามราชอาณาจักรอาชันตี [Ashanti ปัจจุบันคือ กานา (Ghana)] ซึ่งก่อกบฏขึ้น อังกฤษสามารถยึดและเผาคูมาไซ (Kumasi) เมืองหลวงของอาชันตีได้ และกษัตริย์ก็ยอมแพ้ เมื่อภารกิจครั้งนี้สำเร็จภายในเวลา ๒ เดือน ชื่อเสียงด้านการทหารของวูลสลีย์ยิ่งระบือลือเลื่อง เขาได้รับยศพลตรีและเงินรางวัลจำนวน ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ จากเหตุการณ์นี้เกิดการใช้สำนวนว่า “Everything’s all Sir Garnet” หรือ “It’s all Sir Garnet” ในอังกฤษซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปและมีความหมายว่าทุกอย่างเรียบร้อย (อย่างการ์เนต)

 สองปีต่อมา วูลสลีย์ถูกส่งไปรัฐนาตาล (Natal) ในแอฟริกาใต้ซึ่งครอบคลุมดินแดนของพวกซูลู (Zulu) ด้วย รัฐบาลอังกฤษต้องการให้เขาโน้มน้าวชาวอาณานิคมให้ยอมตกลงสละสิทธิทางการเมืองบางประการเพื่อร่วมกันสถาปนาสหพันธรัฐในแอฟริกาใต้ขึ้น วูลสลีย์ถูกส่งไปเป็นผู้ว่าราชการและผู้บัญชาการทหารที่นาตาลในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๕ และต่อมารัฐบาลโยกย้ายให้ไปเป็นข้าหลวงใหญ่คนแรกของไซปรัส (Cyprus) ซึ่งอังกฤษเพิ่งได้ครอบครองใน ค.ศ. ๑๘๗๘ แต่ในปีต่อมา เมื่ออังกฤษต้องทำสงครามกับพวกซูลู วูลสลีย์ก็ถูกส่งกลับไปบัญชาการรบที่นั่นและสามารถจับกุมเคตวาโย (Cetewayo) กษัตริย์ซูลูได้เมื่อเขาจัดระเบียบในซูลูแลนด์ (Zululand) ได้สำเร็จเขาก็เดินทางต่อไปยังรัฐทรานสวาล (Transvaal) เพื่อหยุดยั้งการก่อกบฏของพวกบัวร์ (Boer)

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๐ วูลสลีย์กลับไปประจำการที่กระทรวงสงครามโดยเป็นเจ้ากรมพลาธิการซึ่งเป็นตำแหน่งหลักในการกำกับการฝึกอบรมทหาร ชื่อเสียงของเขานับว่าขึ้นถึงขีดสุด ดับเบิลยู. เอส. กิลเบิร์ต (W.S.Gilbert) และอาร์เทอร์ซัลลิแวน (Arthur Sullivan) แห่งคณะกิลเบิร์ตและซัลลิแวน (Gilbert & Sullivan) ยังได้นำบุคลิกของวูลสลีย์มาสร้างเป็นตัวละครสำคัญคือ พลตรี สแตนลีย์ (Major-General Stanley) ในอุปรากรชวนหัวเรื่อง The Pirates of Penzance หรือ The Slave of Duty ที่เปิดการแสดงครั้งแรกขึ้นในนครนิวยอร์ก และต่อมาที่กรุงลอนดอน จนโด่งดังไปทั่วสหรัฐอเมริกาและอังกฤษและเป็นที่รู้จักดีจนถึงในปัจจุบัน ผู้ชมรับรู้ทันทีว่าพลตรี สแตนลีย์ที่มีหนวดยาวโง้งตามเพลงชื่อ The Very Image of a Modern Major-General หมายถึงนายพลวูลสลีย์นั่นเอง

 เมื่อเกิดการลุกฮือต่อต้านตุรกีขึ้นในอียิปต์โดยมีอูราบี ปาชา (Urabī Pasha) เป็นผู้นำงานปฏิรูปกองทัพต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ด้วยความเก่งกาจในการยุทธ์ วูลสลีย์นำทหารประมาณ ๓๑,๐๐๐ นาย เข้ายึดคลองสุเอซ (Suez) ได้ในเวลารวดเร็ว และยกพลขึ้นบกที่เมืองอิสไมเลีย (Ismailia) การตัดสินใจที่ชาญฉลาดในการสั่งเคลื่อนกำลังพลโจมตีในค่ำคืนทำให้อูราบี ปาชาถูกจู่โจมจนพ่ายแพ้ที่ตัลล์ อัล-คาบีร์ (Tall al-kabīr) ในวันที่ ๑๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๘๒ เมื่อเขากลับไปอังกฤษ ชื่อเสียงของวูลสลีย์จึงยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก นอกจากจะได้เลื่อนยศเป็นพลเอกและได้รับเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ ปอนด์แล้ว รัฐบาลอังกฤษที่มีวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* เป็นนายกรัฐมนตรียังทูลให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* แต่งตั้งวูลสลีย์เป็นบารอนวูลสลีย์แห่งไคโรและแห่งวูลสลีย์ (Baron Wolseley of Cairo and of Wolseley)

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ วูลสลีย์ต้องกลับไปอียิปต์อีกโดยนำกองทหารล่องไปตามแม่น้ำไนล์เพื่อช่วยพลตรีชาลส์ จอร์จ กอร์ดอน (Charles George Gordon)* เพื่อนเก่าของเขาซึ่งถูกปิดล้อมอยู่ที่เมืองคาร์ทูม (Khartoum) ในซูดานอันเนื่องมาจากพวกเดอร์วิช (Dervish) ที่มีมาฮ์ดี (Mahdi) เป็นผู้นำชักชวนให้ซูดานลุกขึ้นต่อต้านผลประโยชน์ของอังกฤษและอียิปต์กองทหารของอังกฤษล่องไปตามแม่น้ำไนล์ตามแบบที่วูลสลีย์คิดว่าจะเหมือนครั้งที่หน่วยทหารของเขาล่องไปในทะเลสาบสุพีเรีย (Lake Superior) เพื่อไปยังป้อมแกร์รี [Fort Garry ปัจจุบันคือเมืองวินนิเปก (Winnipeg)] ที่มั่นของลุย รีเอล บนฝั่งแม่น้ำแดงในแคนาดาใน ค.ศ. ๑๘๗๐ แต่กลับเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพราะการเคลื่อนพลแบบนี้อุ้ยอ้ายเชื่องช้า กองกำลังของเขาจึงไปถึงคาร์ทูมในวันที่ ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๕ ซึ่งช้าไปแล้วเพราะนายพลกอร์ดอนถูกสังหารและถูกตัดศีรษะเมื่อข้าศึกเข้ายึดเมืองนี้เมื่อ ๒ วันก่อนหน้า ไม่นานจากนั้นหน่วยทหารของวูลสลีย์ก็ต้องถอนกลับออกมาเพราะเกิดกรณีเรื่องปันจ์เดฮ์ (Panjdeh Incident; Panjdeh Scare) ในอัฟกานิสถานขึ้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษใกล้แตกหัก อย่างไรก็ดี แม้ทำภารกิจไม่สำเร็จวูลสลีย์ก็ไม่ได้ถูกตำหนิและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นไวส์เคานต์และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริก (Knight of St Patrick) ในปีเดียวกันนี้

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ วูลสลีย์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไอร์แลนด์ ในช่วงนี้เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับดุ๊กแห่งมาร์ลโบโร (Duke of Marlborough) และจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ในช่วงชีวิตราชการทหารที่เหลือนั้นวูลสลีย์มุ่งไปกับการบริหารและวางแนวปฏิรูปกองทัพให้บรรลุผลซึ่งต้องเผชิญแรงต่อต้านอย่างมากและทำให้เขาถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงทั้ง ๆ ที่เขามีแนวคิดอนุรักษนิยมในทางการเมือง ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าชายจอร์จดุ๊กแห่งเคมบริดจ์ที่ ๒ (Prince George, 2ᶰᵈ Duke of Cambridge) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นพระญาติสนิท ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการที่เขาได้ตำแหน่งทางทหารสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี วูลสลีย์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในไอร์แลนด์จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๘๙๔ จากนั้นในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพล และในปีถัดมารัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ก็เสนอแต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดสืบต่อจากดุ๊กแห่งเคมบริดจ์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๕ ในช่วงดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้สุขภาพของวูลสลีย์ทรุดโทรมลงแต่เขาก็ยังคงผลักดันเรื่องการปฏิรูปกองทัพเพราะกองทัพบกของอังกฤษยังมีขนาดเล็กในขณะที่จักรวรรดิอังกฤษกว้างใหญ่ไพศาล การปกป้องดินแดนจักรวรรดิโดยอาศัยแต่กองทัพเรือเป็นการเปิดจุดอ่อน นอกจากนี้เขายังกำกับการทำสงครามย่อย ๆ ของอังกฤษในดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ เขาระดมสรรพกำลังเพื่อให้อังกฤษพร้อมหากต้องเข้าสู่สงครามแอฟริกาใต้หรือสงครามบัวร์ แต่ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างมากในที่สุดเขาก็ลาออกจากกองทัพใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และส่งต่อตำแหน่งให้แก่จอมพล เฟรเดอริก สเล รอเบิตส์ เอิร์ลรอเบิตส์ที่ ๑ (Frederick Sleigh Roberts, 1ˢᵗ Earl Roberts)* ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนสุดท้ายก่อนมีการยุบเลิกตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๐๔ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ วูลสลีย์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายทหารราชองครักษ์ (Gold Stick-in-Waiting) ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตวูลสลีย์ก็ได้ร่วมอยู่ในขบวนแห่พระบรมศพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ ด้วย หลังจากนี้ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑–๑๙๑๐)* ก็ทรงมอบหมายให้วูลสลีย์เป็นผู้นำคณะทูตพิเศษไปแจ้งข่าวการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ยังจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* โรมาเนีย เซอร์เบีย ตุรกี และกรีซ ในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิต เขาเริ่มหลงลืมและความจำเสื่อม เขาจึงปลีกตัวออกจากสังคม

 จอมพล การ์เนต โจเซฟ วูลสลีย์ ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักในฤดูหนาวในเมืองม็องตง (Menton) บนชายฝั่งริเวียราบริเวณพรมแดนฝรั่งเศส-อิตาลี เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ สิริอายุ ๗๙ ปี ร่างของเขาถูกนำกลับมายังอังกฤษเพื่อให้ผู้คนมาแสดงความเคารพและไว้อาลัยณกระทรวงสงครามเป็นเวลา ๒ วัน ก่อนจะประกอบพิธีฝังอย่างสมเกียรติที่มหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul’s Cathedral) กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ฟรานซิส วูลสลีย์ (Frances Wolseley) บุตรีและทายาทคนเดียวจึงเป็นผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ของเขา [เธอเป็นนักประพันธ์และผู้ก่อตั้งวิทยาลัยสำหรับนักพืชสวนสตรี (College for Lady Gardeners) ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ที่หมู่บ้านไกลนด์ (Glynde) ในมณฑลอีสต์ซัสเซกซ์ (East Sussex) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุตรสาวของครอบครัวชนชั้นกลางมีแหล่งหาความรู้เพื่อการออกไปประกอบอาชีพ] วูลสลีย์มีผลงานเขียนหลายชิ้น ได้แก่ Narrative of the War with China in 1860 ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของเขา The Life of John Churchill, Duke of Marlborough to the Accession of Queen Anne (ค.ศ. ๑๘๙๔) The Decline and Fall of Napoleon (ค.ศ. ๑๘๙๕) และอัตชีวประวัติเรื่อง The Story of a Soldier’s Life ซึ่งเป็นหนังสือชุด ๒ เล่ม (ค.ศ. ๑๙๐๓) ซึ่งไม่ละเอียดลออนักเพราะเป็นช่วงที่เขามีปัญหาเรื่องความจำแล้ว นอกจากนั้นเขายังมีผลงานประเภทบทความ เช่น “Narrative of the Red River expedition, by an officer of the Expeditionary Force” ในนิตยสาร Blackwood’s Edinburgh Magazine และ “A Month’s visit to the Confederate Headquarters” ในนิตยสารเล่มเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษได้จัดสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นเขาบนหลังม้าและจัดตั้งอยู่บริเวณลานฮอร์สกาดส์พาเรด (Horse Guards’ Parade) หรือลานสวนสนามของเขตไวต์ฮอลล์(Whitehall)กรุงลอนดอนโดยทำพิธีเปิดใน ค.ศ. ๑๙๒๐.



คำตั้ง
Wolseley, Garnet Joseph Wolseley, 1ˢᵗ Viscount, Baron Wolseley of Cairo and of Wolseley
คำเทียบ
จอมพลการ์เนต โจเซฟ วูลสลีย์ ไวส์เคานต์วูลสลีย์ที่ ๑ บารอนวูลสลีย์แห่งไคโรและแห่งวูลสลีย์
คำสำคัญ
- กบฏซีปอย
- กบฏอินเดีย
- กรณีเรื่องปันจ์เดฮ์
- กรณีเรื่องเรือเทรนต์
- กอร์ดอน, ชาลส์ จอร์จ
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- นโปเลียนที่ ๑
- พรรคอนุรักษนิยม
- รอเบิตส์, จอมพล เฟรเดอริก สเล
- วูลสลีย์, จอมพล การ์เนต โจเซฟ
- เวลส์
- สงครามกลางเมืองอเมริกัน
- สงครามไครเมีย
- สงครามบัวร์
- สงครามฝิ่นครั้งที่ ๒
- สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ ๒
- สงครามแอฟริกาใต้
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1833–1913
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๗๖–๒๔๕๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-